วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเลี้ยง Cactus


                                          
                                           ที่มาhttp://www.banidea.com/9-good-tree-for-desk/





      แคคตัส (CACTUS) หรือ คำที่คนทั่วๆไปเรียกกันว่า กระบองเพชร  ถ้าพูดถึงคำว่ากระบองเพชรแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงต้นที่สูงๆ มีแขน 2 ข้าง ที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย มีพระอาทิตย์ดวงใหญ่ๆเป็นแบลคกราวน์ พร้อมกับอูฐ 1 ตัว แต่จริงๆแล้ว แคคตัส มีหลายหลายสายพันธ์ ที่ค้นพบกันก็ประมาณ 3 พันกว่าชนิดแล้ว ไม่รวมสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ 
แคคตัส ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายที่มีอากาศร้อน ดังนั้นแคคตัส จึงสามารถเลี้ยงในบ้านเราได้อย่างสบายๆ แถมยังเลี้ยงได้สวยงามมากกว่าหลายๆที่ในโลกอีกด้วย เนื่องจากบ้านเราไม่มีหิมะ และ ไม่ได้มีอากาศที่หนาวจัด แคคตัสจึงไม่ต้องพักตัว แต่ข้อเสียก็คือ เราอาจจะเลี้ยงแคคตัสที่ชอบอากาศเย็นๆ ได้ไม่สวยงามมากนัก และต้องอย่าลืมว่า ทะเลทรายที่ถึงแม้จะมีอากาศร้อนจัดก็จริง แต่ในช่วงกลางคืนนั้น ก็มีอากาศที่แสนจะหนาวเย็นด้วยเช่นกัน เคยมีกูรูแคคตัสกล่าวไว้ว่า
"สถานที่ใดที่มีอุณหภูมิในช่วงกลางวัน แตกต่างกับกลางคืน ถึง 10 องศา สถานที่นั้นเลี้ยงไม้ได้งาม"
ปัจจัยหลักในการเลี้ยงแคคตัส
แสงแดด (Sunlight)  
แคคตัสอาศัยแสงแดดในการปรุงอาหารเลี้ยงลำต้นเพื่อความเจริญเติบโตและการอยู่รอด เช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น
แคคตัส ส่วนมากมีถิ่นกำเนิดในภูมิประเทศที่ร้อน และ แห้งแล้ง เพื่อเลียนแบบแคคตัสในธรรมชาติ แคคตัสควรจะได้รับแสงแดดให้นานตลอดวัน เพราะการได้รับแสงแดดที่เต็มที่นี้ จะทำให้แคคตัสแข็งแรงเติบโต ได้รูปทรงที่ถูกต้องตามลักษณะสายพันธุ์ ไม่สูงชะลูด หรือ ยืดหัวหลิม และแสงแดดยังทำให้ หนามของแคคตัสใหญ่ และ ยาวขึ้น ถ้าเป็นต้นที่มีขนสีขาว ขนก็จะขาวขึ้น ถ้าเป็นหนามที่มีสี สีสันก็จะออกจัดจ้านขึ้นด้วย การที่หนามมากขึ้น หรือ หนาขึ้นนั้น เป็นสัญชาตญาณเพื่อสร้างการป้องกัน เพื่อปกป้องตัวเองจากแสงแดดนั่นเอง แต่ก็อาจมีบางชนิดที่ต้องเลี้ยงร่มกว่าปกติ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ชนิดนั้นๆด้วย
การนำแคคตัสออกแดดจัดนั้นจะต้องมีวิธีการอย่างค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ต้นไหนที่รากยังไม่เดินเต็มที่ ก็ควรตั้งไว้ในที่ถูกแดดไม่มากนั้น เมื่อรากเดินเต็มที่แล้ว (ดูได้จากยอดที่เริ่มออกใหม่ หรือ ต้นเริ่มแน่นแล้ว) จึงค่อยย้ายไปในที่ได้รับแดดได้มากขึ้น หรือ ต้นไหนที่เริ่มมาจากการเลี้ยงร่ม ก็ต้องค่อยเพิ่มแดดให้เค้าทีละนิด ทีละนิด ถ้านำออกไปตากแดดจัดทันที อาจทำให้ต้นไม้ไหม้ ผิวเสีย และอาจถึงตายได้  ต้องใจเย็นๆ ค่อยปรับสภาพต้นไม้ เพื่อให้รับสภาพกับแดดที่จัดได้ แล้วคุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าจริงๆ กับหนามใหม่ที่จะออกมายลโฉมให้เห็น
    อุณหภูมิ (Temperature)
แคคตัส แม้อากาศร้อน แห้งแล้ง ในทะเลทรายก็ยังสามารถเติบโตได้ ดังนั้นบ้านเราจึงโชคดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอากาศที่ร้อน (ถึงร้อนมาก) จึงทำให้เราสามารถเลี้ยงแคคตัสให้เติบโตดีได้ตลอดทั้งปี ผิดกับในบางประเทศ ที่มีหิมะตกหนัก และ มีอากาศหนาว จึงทำให้ต้องเลี้ยงแคคตัสไว้ในเรือนกระจก ติดฮีทเตอร์ แต่ของบ้านเราถ้าติดแอร์ได้ก็คงจะดี เพราะอุณภูมิในโรงเรือนตอนกลางวัน ร้อนถึง 45 องศากันเลยทีเดียว
เครื่องปลูกแคคตัส
สำหรับเครื่องปลูกแคคตัส เป็นปัญหาร้อยแปด สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มปลูกเลี้ยงแคคตัส ไปจนถึง นักปลูกมืออาชีพกันเลยทีเดียว คำถามที่ถามส่วนใหญ่ คือ ควรปลูกในดินชนิดไหนจึงจะดี และ ต้องผสมอะไรลงไปในดินบ้าง ดินตามร้านที่ผสมเสร็จแล้ว ใช้ได้เลยหรือไม่ ต้องผสมอะไรเพิ่มเข้าไปอีก
การผสมดินให้แคคตัสนั้นก็เหมือนกับเราเป็นพ่อครัว ที่ต้องปรุงอาหารให้กับต้นแคคตัสของเราได้ทาน ถ้าอาหารดีมีสารอาหารครบถ้วน แคคตัสก็จะแข็งแรง เติบโต และ ต้านทานโรคได้ดี แต่ถ้าอาหารของเราไม่ดี มีสารอาหารไม่ครบถ้วน ต้นก็จะอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้ตามวัย 
สูตรของที่ไหนดี? 
ไม่ว่าจะเป็นสูตรที่ได้รับมาจากหนังสือคู่มือการเลี้ยง สูตรที่ได้รับมาจากร้านค้า หรือ เป็นสูตรที่ได้รับมาจากนักเล่นขั้นเทพ ก็ไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่า สูตรไหนจึงจะดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับแคคตัส ที่ปลูกเลี้ยงในบ้านนั้นๆ เพราะฉะนั้น คำตอบที่ถูกที่สุดก็คือไม่มีสูตร (ลับ) เพราะไม่มีดินสูตรไหนที่สามารถเลี้ยงแคคตัสได้ทุกชนิด และ ทุกสถานที่ได้ดี  ลักษณะของดินแคคตัสที่ดีก็คือ ดินที่สามารถปลูกได้ดีกับต้นชนิดนั้นๆในสถานที่นั้นๆ
ฟังแบบนี้แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรจะผสมยังไงดีล่ะ?
ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักกับส่วนประกอบของดินที่เราจะผสมกันก่อนดีกว่าเราจะได้รู้ว่าในบ้านของเราควร จะผสมสูตรไหนดี
ส่วนประกอบหลักที่เราจะผสมลงไปก็ได้แก่ 
เนื้อดิน เช่น ดินขุยไผ่  ดินใบก้ามปู ดินที่ผสมใบไม้หมักต่างๆ  แกลบ ขุยมะพร้าว พีทมอส หรือ มูลสัตว์ต่างๆ
วัสดุที่ช่วยเพิ่มความโปร่งให้ดิน เช่น เพอร์ไลท์ (Perlite) , หินภูเขาไฟ (Pumice) , เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite) , กรวดแม่น้ำ , มะพร้าวสับ , ถ่าน และ ฯลฯ
สารเคมีต่างๆ เช่น ปุ๋ยละลายช้า ยาฆ่าแมลงแบบเกร็ด (สตาร์เกิ้ลจี ฟูราดาน และ อื่นๆ) ยาฆ่าเชื้อรา และ ฯลฯ
ส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนนี้ ควรจะเลือกชนิดที่นำมาผสม ให้เข้ากับความสะดวกในการซื้อหา และ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ
ข้อควรระวัง หรือ ข้อควรสังเกตุในการผสม
ในการผสมดินนั้น เราควรคำนึงถึงความสะอาดของดิน เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา หรือ เชื้อโรคต่างๆในวัสดุที่เราจะนำมาผสม เราควรทำความสะอาด หรือ ตากแดดไว้สัก 3 – 5 วัน ก่อนที่จะนำมาผสม  ส่วนประกอบที่จะนำมาผสม มีธาตุอาหารเพียงพอหรือไม่ ดินมีความโปร่งพอหรือไม่ ดินโปร่งจะทำให้ดินแห้งไว น้ำสามารถซึมผ่านไปได้ทั้งกระถาง ตามธรรมชาติของแคคตัสแล้ว ไม่ได้ต้องการเนื้อดินเยอะ ควรเน้นไปที่วัสดุที่ช่วยความโปร่งให้ดิน แล้วใส่ดินไปประมาณ ¼ ก็เพียงพอแล้ว ข้อสำคัญ หลังจากที่ผสมดินเสร็จแล้ว ควรรดน้ำให้ชุ่ม และ ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ เราจะได้ดินที่สะอาดและไม่มีความร้อน จาก การย่อยสลายตัวของอินทรีย์สารในดิน
ดินสูตร(ไม่)ลับ ของ Jibi Cactus
ดินร่วน 1 ถ้วย 
ทรายหยาบ 1 ถ้วย 
พีทมอส 1 ถ้วย
หินภูเขาไฟ 1 ถ้วย
เพอร์ไลท์ 1 ถ้วย
แกลบดำ ½ ถ้วย
*ดินสูตรนี้ จิ๊บผสมให้เหมาะกับสภาพอากาศ ณ เขาค่าย จังหวัด ชุมพร
วัสดุที่นิยมนำมาใช้แต่ละชนิดเค้าเรียกยังไง หน้าตายังไง และให้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ดินร่วน คือ ดินที่มีลักษณะร่วนซุย น้ำซืมผ่านได้ดี มักจะเป็นดินที่มีจำหน่ายสำหรับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป เช่น ดินขุยไผ่ ดินใบก้ามปู หรือ ดินใบไม้ผุ
ทรายหยาบ ที่ใช้ เป็นทรายที่นำมาจากแม่น้ำ เนื่องจากทรายทะเลมีความเค็ม เวลานำมาผสมจะทำให้ดินเค็มมากเกินไป ใช้ผสมเพื่อให้ดินโปร่ง และ แห้งได้เร็วขึ้น
ถ่าน ใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งเบาให้กับดิน
พีทมอส คือ วัสดุที่เกิดจากการผุพัง ทับถมกันของพืชจำพวก Sphagnum moss (พืชไร้ดอกชนิดหนึ่ง)  มีสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารพืช และ สามารถอุ้มน้ำได้ดี มีเชื้อโรคน้อย สามารถนำมาใช้แทนดินปลูกในการเพาะเมล็ด ได้
หินภูเขาไฟ เป็นหินแร่แถบภูเขาไฟ ซึ่งจะมีโพรงอากาศอยู่ภายใน นำมาย่อยให้ได้ขนาดต่างๆตามความเหมาะสมในการนำไปใช้ มีแร่ธาตุอนินทรีย์ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ ใช้ผสมดินเพื่อให้ดินโปร่ง และระบายน้ำได้ดี จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผสมเครื่องปลูกแคคตัส หินภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ สามารถนำมารองก้นกระถางเพื่อช่วยในการระบายน้ำได้
ดินญี่ปุ่น Akadama
เป็นดินที่ทำมาจากธรรมชาติ มีแร่ธาตุสูง เป็นแร่ที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟ แล้วนำมาผึ่งให้แห้ง นำมาร่อนเพื่อแยกขนาด จากนั้นนำมาอบที่อุณหภูมิ 2,200 ฟาเรนไฮน์ เพื่อกำจัดอินทรีย์วัตถุ ใช้ผสมแทนดินได้ แต่ไม่ควรนำมาผสมกับดินเพราะจะยิ่งทำให้ดินแน่น
*เล็กๆน้อยๆที่ทำให้แคคตัสเราดูสวยงามขึ้น 
ทำให้แคคตัสเราดูสวยงามขึ้นไม่ยาก เพียงเลือกวัสดุที่นำมาโรยหน้าดิน ให้เหมาะสม ไม่คม หรือ แหลมเกินไปจนทำให้บาดต้น สีสันให้เข้ากับธรรมชาติ การโรยหน้าดินยังช่วยป้องกันไม่ได้เศษดินดำๆกระเด็นไปโดนปุยขาวๆ หรือเลอะโคนต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้แคคตัสของเราดูสวยขึ้นแล้ว
น้ำ (Water)
คนเลี้ยงส่วนมากแล้วมักจะรดน้ำในตอนเช้า ก่อนกระถาง หรือ เครื่องปลูกจะร้อนมาก เพราะถ้ารดตอนร้อนมากๆ กระถางกับเครื่องปลูก ก็จะกลายเป็นหม้อต้ม พร้อมที่จะปรุงแคคตัสของเราให้สุกได้อย่างดีเลยทีเดียว ส่วนถ้าตอนเช้าต้องไปทำงานไม่มีเวลารด ก็สามารถรดได้ในตอนเย็น หรือ เมื่อเครื่องปลูกเย็นแล้วก็ได้ แต่จิ๊บชอบรดตอนเย็นมากกว่า เพราะปัจจุบันนี้ เพียงแค่ 7 โมงเช้า แดดก็ร้อนซะแล้ว รดตอนเย็น อากาศก็เย็น ใจก็เย็น ทำให้ตอนรดน้ำไปด้วย พิจารณา สังเกตุแคคตัสไปด้วย  อย่างสบาย(อันนี้ผู้เลี้ยงควรพิจารณาตามความเหมาะสม เป็นความชอบส่วนตัวค่ะ ^^)  ระยะเวลาห่างในการรดน้ำ วิธีสังเกตุง่ายๆ หลังจากที่เรารดน้ำไปวันแรก ให้เช็คดูทุกวันว่า อีกกี่วันถัดมาดินถึงจะแห้ง เมื่อดินแห้งแล้วให้เว้นไปอีก 1 วัน แล้วค่อยรดในวันถัดมา ปล่อยให้ดินมีวันที่ได้แห้งบ้าง กระถางเล็ก กระถางใหญ่ ก็มีผลกับระยะในการแห้งของดิน โดยเฉลี่ยแล้วจิ๊บจะรดประมาณ 4 วันครั้ง ถ้าเป็นไม้ต่อที่ต้องการน้ำมากหน่อย ก็จะรด วันเว้นวัน ถ้าเป็นกลุ่มฮาโวเทีย จะรดพร้อมกับแคคตัส แต่จะสเปรย์น้ำให้วันเว้นวันค่ะ

ปุ๋ย (Fertilizer)
การใส่ปุ๋ยแคคตัสนั้น เราสามารถใช้ปุ๋ยกล้วยไม้ให้แก่แคคตัสได้ แต่ควรใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าฉลากข้างขวดระบุไว้ ไม่ควรใจร้อนให้ปุ๋ยแคคตัสในปริมาณมาก เพราะอาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี การให้ปุ๋ยแคคตัสในปริมาณมาก อาจทำให้ต้นแคคตัสระเบิดได้
เคล็ด(ไม่)ลับ ของ Jibi Cactus
วิธีใช้ปุ๋ยให้ได้ผลดีอีกทางหนึ่งก็คือ ผสมให้เจือจางกว่าปกติ แต่รดให้บ่อยกว่าปกติ
สูตรของจิ๊บคือ ปุ๋ยกล้วยไม้ 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร รด อาทิตย์ เว้น อาทิตย์
การให้ปุ๋ยแก่ต้นไม้ทุกชนิด ควรเริ่มให้เมื่อต้นไม้สามารถตั้งตัวได้ดีแล้ว ระบบรากเดินดีพร้อมที่จะกินอาหารได้ เวลาที่เราเปลี่ยนกระถางใหม่ๆ ควรงดปุ๋ยไปจนกว่ายอดของต้นจะเริ่มเดิน นั่นหมายถึงสัญญานว่า ระบบรากเริ่มทำงานแล้ว  การรักษาระยะเวลาให้สม่ำเสมอในการให้ปุ๋ย จึงเป็นสิ่งควรยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ เพื่อสุขภาพที่ดีของแคคตัสที่เรารักนะคะ
โรงเรือน (Green House)
โดยธรรมชาติของแคคตัสแล้ว จะสามารถอยู่ได้ในกลางแจ้งที่มีแดดจัดเต็มที่ แต่ลักษณะของแคคตัสที่อยู่กลางแจ้งนั้น จะมีผิวที่กร้านแดด ไม่สดใสสวยงาม ถ้าเทียบกับแคคตัสที่เลี้ยงโดยมีการพรางแสงบ้างเล็กน้อย เว้นแต่ชนิดที่มีขน หรือ หนามปกคลุมจนมิดเนื้อลำต้น ดังนั้นประโยชน์ของการสร้างโรงเรือนแคคตัสก็เพื่อปกป้องแคคตัสจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น แสงแดด และ ฝน ที่มากจนเกินความต้องการ
  • ข้อควรระวัง ก่อนสร้างโรงเรือนแคคตัสควรดูเรื่องทางของแสงให้ดี ว่ามีเงาต้นไม้ หรือ เงาบ้านบังหรือไม่ เพื่อนนักเล่นบางท่าน มีปัญหากับเงาของต้นไม้เป็นประจำเวลาสร้างโรงเรือน บางท่านถึงกับต้องโค่นต้นมะม่วงไปเลยก็มี
โรงเรือนที่เหมาะสมกับการปลูกแคคตัส จะต้องเลี้ยงแคคตัสได้อย่างสุขสบาย มีลักษณะตามสายพันธุ์ที่ถูกต้อง มีสีสวยงามทุกฤดู ไม่กลัวแดดในฤดูร้อน และ ไม่เน่าตายในฤดูฝน  สามารถป้องกันแมลงและสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอันตรายกับแคคตัสได้
รูปแบบส่วนใหญ่สำหรับโรงเรือนแคคตัสในบ้านเรา มักจะใช้พลาสติดกัน UV ชนิดใส มุงหลังคา ซึ่งในระยะแรกอาจจะใสมาก ควรจะใช้สแลน หรือ เนตไนล่อนสีขาว คลุมพลางแสงสัก 50%  จนเมื่อพลาสติกเริ่มขุ่น แคคตัสเริ่มปรับสภาพได้ ค่อนนำเนตไนล่อนสีขาวออก ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับโรงเรือนเล็กๆ ที่ไม่ต้องการลงทุนมาก และ สามารถเปลี่ยนแผ่นพลาสติกได้ง่าย เพราะพลาสติกมีอายุการใช้งานน้อย จะอยู่ได้เพียง ปี หรือ 2 ปีเท่านั้น แต่จิ๊บเคยลองใช้เนตไนล่อนสีขาวคลุมทับพลาสติคอีกชั้น ปรากฏว่า สามารถยืดอายุการใช้งานพลาสติกได้อีกเป็นปีเลยทีเดียว
อีกวิธีหนึ่งซึ่งดูถาวร และ มั่นคงกว่า แต่ต้องลงทุนมากหน่อย ก็คือการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องใส ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิด ยิ่งดี ราคาก็ยิ่งสูงตามไปด้วย
กระเบื้องใส ชนิดที่เป็นใยแก้ว มีอายุการใช้งาน ประมาณ 2-5 ปี เพราะกระเบื้องจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และ ขุ่น ทำให้ได้รับแสงแดดได้เป็นเต็มที่ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่  ราคาตกแผ่นล่ะ 150 - 180 บาท
กระเบื้องใส ชนิดที่เป็น โพลีคาร์โบเนต มีอายุการใช้งาน ประมาณ 3 – 7 ปี 
กระเบื้องใส ชนิดที่เป็น อะคิริค มีอายุการใช้งาน ประมาณ 7 – 10 ปี กระเบื้องชนิดนี้จะเป็นที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ราคาตกแผ่นล่ะ 220 – 350 บาท  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น